ข้อควรทราบ


ข้อควรทราบระเบียบผู้ที่มาพักปฏิบัติในวัดสนามใน

  1. ยอมรับในระเบียบปฏิบัติ และตารางเวลาของหมู่คณะที่ปฏิบัติร่วมกัน
  2. ลงทะเบียนก่อนรับกุญแจเข้าพักทุกครั้ง
  3. ปฏิบัติตามแนวคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ เท่านั้น
  4. ทำวัตรเช้า – เย็น ปฏิบัติร่วมกัน เช้า – บ่าย ต้องมาทุกคน (ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสเท่านั้น)
  5. งานส่วนรวมทุกคนควรช่วยกันทำ ไม่ควรหลีกเลี่ยงให้เป็นภาระของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
  6. งดเว้นจากการชักชวนผู้อื่นสนทนาโดยไม่จำเป็น และส่งเสียงรบกวนผู้อื่น
  7. ห้ามนำวิทยุ, เทป, โทรทัศน์, หนังสือต่างๆ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เข้าไปในห้องพักก่อนได้รับอนุญาต
  8. นุ่งห่มเสื้อผ้าให้เรียบร้อย และสุภาพ
  9. ต้องเลิกอบายมุข และสิ่งเสพติดทุกชนิด
  10. ก่อนกลับกรุณาคืนกุญแจกับเจ้าหน้าที่โดยตรง และเก็บคืนเครื่องนอน และทำความสะอาดกุฏิที่พักให้เรียบร้อย

ข้อควรกระทำในช่วงเวลาปฏิบัติร่วมกัน
  1. ควรมาให้ตรงต่อเวลา เมื่อได้ยินสัญญาณระฆัง ตอนเริ่มและตอนเลิกโดยพร้อมเพรียงกัน
  2. สถานที่ปฏิบัติเลือกนั่ง เดิน ตามสะดวก แต่ควรอยู่ในบริเวณศาลาหลังใหญ่ และโบสถ์
  3. หน้าที่หลักคือการทำความรู้สึกตัว นั่งสร้างจังหวะ และเดินจงกรม ดูกายเคลื่อน-ไหว ไม่ควร นั่งนิ่งๆ หรือนั่งหลับตา
  4. พระภิกษุสงฆ์ ควรห่มจีวรให้เรียบร้อย
  5. เว้นกระทำ หรือพูดคุยส่งเสียงรบกวนหมู่คณะ
  6. เว้นการเข้าไปกุฏิ ช่วงเวลาปฏิบัติร่วมกัน
  7. หลังทำวัตรเช้า ควรช่วยกันทำความสะอาดที่ศาลาใหญ่ โบสถ์ และเตรียมภาชนะอาหารที่โรงครัว

 กฎการปฏิบัติผู้ที่อยู่วัดนาน

  1. ต้องช่วยเหลือกิจการงานส่วนรวมภายในวัด และไม่หลีกเลี่ยงให้เป็นภาระของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
  2. ต้องยอมรับในระเบียบการปฏิบัติของวัดหรือของเจ้าอาวาสโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ
  3. ต้องลงทำวัตรเช้า-เย็นอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสหรือผู้แทน เมื่อมีเหตุจำเป็นที่เหมาะสม และควรลงมาปฏิบัติก่อนเวลาเสมอ
  4. เมื่อได้รับมอบหมายกิจการงานใดๆ ต้องรับผิดชอบในงานนั้นๆ ให้เรียบร้อย
  5. ห้ามพูดคุยหรือชักชวนผู้อื่นสนทนาและส่งเสียงรบกวนในระหว่างปฏิบัติธรรม
  6. ผู้ที่ออกไปทำธุระนอกวัดควรบอกเจ้าอาวาส, ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระผู้ใหญ่ หรือแจ้งสำนักงานให้รับทราบ

ศึกษาธรรมะ กับธรรมชาติ


ศึกษาธรรมะ ศึกษากับธรรมชาติมันจริงๆ
มันก็ต้องรู้มาจากกฎของธรรมชาติมันจริงๆ
เพราะธรรมชาติมันสอนให้เราจริงๆ เป็นอย่างนั้น


ตาจึงเป็นหน้าที่ของมองให้เห็น
หูจึงเป็นหน้าที่ของฟัง
จมูกจึงเป็นหน้าที่ของดม
กายเราเป็นหน้าที่ที่สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ลิ้นนี่ กินอาหารเข้าไปเป็นหน้าที่ที่จะรู้รส
จิตใจของเราเรียกว่าธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจ
คำว่าธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็คือ หมายถึง
จิตใจเราปรากฏ พลิกแพลง เราต้องเห็นต้องรู้


เมื่อเรารู้จักหน้าที่ของคน
เราต้องศึกษาความเป็นคน
เนี่ยะ…ความเป็นมนุษย์
เรื่องเทวดา เรื่องพระอินทร์ พระ-พรหม
แล้วก็ไม่ต้องศึกษาก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น
แต่เมื่อศึกษาความเป็นมนุษย์ได้แล้ว
มันจะไหลไป เข้าไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล
ไม่ว่ายุคนั้น ยุคนี้ ไปเหมือนเดิม


ดังนั้น การศึกษาธรรมะจึงไม่ยาก
ไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ใดทั้งสิ้น
ขึ้นอยู่กับตัวคน อยู่ที่ไหนก็ทำได้…


หลวงพ่อเทียน (คัดจากแถบบันทึกเสียง รหัส ท.119ม.)