การทำความรู้สึกตัว


การสร้างจังหวะ
การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานั้น ต้องมี “วิธีการ” ที่จะนำตัวเรา ไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาได้ การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
ดังนั้นการมาที่นี่ต้องพยายาม ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ สอนกันแนะนำกัน ให้มีวิธีทำ โดยเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ
วิธีทำนั้น ก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว...
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้าๆ...ให้รู้สึก ไม่ใช่(พูด) ว่า “พลิกมือขวา” อันนั้นมากเกินไป เพียงแต่ว่าให้รู้สึกเท่านั้นเอง พลิกมือขึ้น...ให้รู้สึก หยุดไว้ ยกมือขึ้น...ให้รู้สึก ให้มันหยุดก่อน ให้มันหยุด มันไหวไป...ให้รู้ขึ้นครึ่งตัวนี่...ให้มันรู้ แล้วก็เอามาที่สะดือ
อันนี้มีจังหวะซ้าย-ขวา เป็น ๖ จังหวะ เวลาเอามือออกมาก็ซ้าย-ขวา รวมกันเข้ามี ๘ จังหวะ อันนี้เป็นจังหวะ เป็นจังหวะ
การเจริญสตินั้น ท่านว่าให้ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็ทำความรู้สึกนี่เอง เมื่อพูดถึงความรู้สึกแล้ว ก็พูดวิธีปฏิบัติพร้อมๆ กันไป ทุกคนทำตามอาตมาก็ได้


เอามือเรามาวางไว้บนขาทั้งสองข้างนั้นเอง คว่ำมือไว้ ตามเท่าที่อาตมาได้ทำทำอย่างนี้


พลิกมือขวาตะแคงขึ้น ทำช้าๆ ให้มีความรู้สึกตัว อันความรู้สึกตัวนั้น ท่านเรียกว่า สติ


ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว แล้วก็รู้สึกว่ามันไหวขึ้นมา แล้วก็มันหยุดนิ่ง ก็รู้สึกตัว


บัดนี้ เลื่อนมือขวามาที่สะดือเรา เมื่อมือมาถึงสะดือเรา ก็มีความรู้สึกว่ามันหยุดแล้ว  เราก็รู้


พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้นที่ขาซ้าย ชันไว้ แล้วก็มีความรู้สึก


ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว ให้มีความรู้สึกหยุดไว้


บัดนี้ เลื่อนมือซ้ายเข้ามาทับมือขวาที่สะดือ แล้วก็รู้สึก อันนี้เรียกว่า การเจริญสติ อันความรู้สึกนั้น ท่านเรียกว่า ความตื่นตัว หรือว่า ความรู้สึกตัว เรียกว่า สติ


เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก ทำช้าๆ มาถึงหน้าอกแล้ว เอาหยุดไว้


เลื่อนมือขวาออกมาตรงข้าง ไหวมาช้าๆ อย่างนี้ เมื่อมาถึงที่ตรงข้าง หยุด


แล้วก็ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้ ให้รู้สึกตัว


คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา ให้มีความรู้สึกตัว


เลื่อนมือซ้ายขึ้นหน้าอก ให้มีความรู้สึกตัว


เอามือซ้ายออกมาที่ตรงข้าง ให้มีความรู้สึกตัว


ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ตะแคงเอาไว้ให้มีความรู้สึกตัว

คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ให้มีความรู้สึกตัว

( หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ : พลิกโลกเหนือความคิด , คู่มือการทำความรู้สึกตัว)

ศึกษาธรรมะ กับธรรมชาติ


ศึกษาธรรมะ ศึกษากับธรรมชาติมันจริงๆ
มันก็ต้องรู้มาจากกฎของธรรมชาติมันจริงๆ
เพราะธรรมชาติมันสอนให้เราจริงๆ เป็นอย่างนั้น


ตาจึงเป็นหน้าที่ของมองให้เห็น
หูจึงเป็นหน้าที่ของฟัง
จมูกจึงเป็นหน้าที่ของดม
กายเราเป็นหน้าที่ที่สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ลิ้นนี่ กินอาหารเข้าไปเป็นหน้าที่ที่จะรู้รส
จิตใจของเราเรียกว่าธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจ
คำว่าธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็คือ หมายถึง
จิตใจเราปรากฏ พลิกแพลง เราต้องเห็นต้องรู้


เมื่อเรารู้จักหน้าที่ของคน
เราต้องศึกษาความเป็นคน
เนี่ยะ…ความเป็นมนุษย์
เรื่องเทวดา เรื่องพระอินทร์ พระ-พรหม
แล้วก็ไม่ต้องศึกษาก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น
แต่เมื่อศึกษาความเป็นมนุษย์ได้แล้ว
มันจะไหลไป เข้าไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล
ไม่ว่ายุคนั้น ยุคนี้ ไปเหมือนเดิม


ดังนั้น การศึกษาธรรมะจึงไม่ยาก
ไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ใดทั้งสิ้น
ขึ้นอยู่กับตัวคน อยู่ที่ไหนก็ทำได้…


หลวงพ่อเทียน (คัดจากแถบบันทึกเสียง รหัส ท.119ม.)