บทอนุโมทนา






ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง
ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด


เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ
ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วในโลกนี้ , ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ได้ฉันนั้น


อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง
ขออิฎฐผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว


ขิปปะเมวะ สะมิชฉะตุ
จงสำเร็จโดยฉับพลัน


สัพเพ ปุเรนตุ สังกัปปา
ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่


จันโท ปัณณะระโสยะถา
เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ


มะณิ โชติระโส ยะถา
เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว ควรยินดี


สัพพีติโย วิวัชชันตุ
ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป


สัพพะโรโค วินัสสะตุ
โรคทั้งปวงของท่านจงหาย


มา เต ภะวัตวันตะราโย
อันตรายอย่ามีแก่ท่าน


สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
ท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน


อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน , จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ
สุขัง พะลัง
ธรรมสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคล ผู้มีปกติไหว้กราบ , มีปกติ
อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ


ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน


รักขันตุ สัพพะเทวะตา
ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน


สัพพะพุทธานุภาเวนะ
ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า


สัพพะธัมมานุภาเวนะ
ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม


สัพพะสังฆานุภาเวนะ
ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์


สะทา โสตถี ภะวันตุเตฯ
ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อเทอญ

ศึกษาธรรมะ กับธรรมชาติ


ศึกษาธรรมะ ศึกษากับธรรมชาติมันจริงๆ
มันก็ต้องรู้มาจากกฎของธรรมชาติมันจริงๆ
เพราะธรรมชาติมันสอนให้เราจริงๆ เป็นอย่างนั้น


ตาจึงเป็นหน้าที่ของมองให้เห็น
หูจึงเป็นหน้าที่ของฟัง
จมูกจึงเป็นหน้าที่ของดม
กายเราเป็นหน้าที่ที่สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ลิ้นนี่ กินอาหารเข้าไปเป็นหน้าที่ที่จะรู้รส
จิตใจของเราเรียกว่าธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจ
คำว่าธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็คือ หมายถึง
จิตใจเราปรากฏ พลิกแพลง เราต้องเห็นต้องรู้


เมื่อเรารู้จักหน้าที่ของคน
เราต้องศึกษาความเป็นคน
เนี่ยะ…ความเป็นมนุษย์
เรื่องเทวดา เรื่องพระอินทร์ พระ-พรหม
แล้วก็ไม่ต้องศึกษาก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น
แต่เมื่อศึกษาความเป็นมนุษย์ได้แล้ว
มันจะไหลไป เข้าไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล
ไม่ว่ายุคนั้น ยุคนี้ ไปเหมือนเดิม


ดังนั้น การศึกษาธรรมะจึงไม่ยาก
ไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ใดทั้งสิ้น
ขึ้นอยู่กับตัวคน อยู่ที่ไหนก็ทำได้…


หลวงพ่อเทียน (คัดจากแถบบันทึกเสียง รหัส ท.119ม.)