การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
 
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
 
การเจริญสตินี้ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือทำได้ทั้งนั้น เวลาเรานั่งรถเมล์ เรานั่งรถยนต์ก็ตาม เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้นคว่ำลงก็ได้หรือเราไม่อยากพลิกขึ้นคว่ำลง เราเพียงเอานิ้วมือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้ สัมผัสอย่างนี้ ให้มีความตื่นตัว ทำช้าๆ หรือจะกำมือ เหยียดมืออย่างนี้ก็ได้
 
คำว่า “ให้ทำอย่างนั้นตลอดเวลานั้น” (คือ) เราทำความรู้สึก ซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างชาม เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสมเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อยเหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี ฝนตกลงมาตกทีละนิด ทีละนิด เม็ดฝนเม็ดน้อยๆ ตกลงนานๆ แต่มันเก็บได้ดี น้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา
 
อันนี้ก็เหมือนกันเราทำความรู้สึก ยกเท้าไปยกเท้ามา ยกมือไปยกมือมา เรานอนกำมือเหยียดมือ ทำอยู่อย่างนั้น หลับแล้วก็แล้วไป เมื่อนอนตื่นขึ้นมาเราก็ทำไป หลับแล้วก็หลับไป ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่า ทำบ่อยๆ อันนี้เรียกว่าเป็นการเจริญสติ
 
การเดินจงกรม
 
เดินจงกรม ก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร? (เพื่อ) เปลี่ยนอิริยาบถ คือนั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา บัดนี้ เดินหลาย (เดินมาก) มันก็เมื่อยหลังเมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่ง เขาเรียกว่า เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่าๆ กัน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อิริยาบถทั้ง ๔ ให้เท่าๆ กัน แบ่งเท่ากันหรือไม่แบ่งเท่ากันก็ได้ เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อยมากอะไร ก็พอดีพอควร เดินเหนื่อยแล้ว ก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้ว ลุกเดินก็ได้
 
เวลาเดินจงกรม ไม่ให้แกว่างแขนเอามือกอดหน้าอกไว้ หรือเอามือไขว้ไว้ข้างหลังก็ได้
 
เดินไปเดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามาทำความรู้สึก แต่ไม่ได้พูดว่า “ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ” ไม่ต้องพูด เพียงเอาความรู้สึกเท่านั้นspan>
 
เดินจงกรม ก็อย่าไปเดินไวเกินไป อย่าไปเดินช้าเกินไป เดินให้พอดี
 
เดินไปก็ให้รู้.....นี่เป็นวิธีเดินจงกรม ไม่ใช่ว่าเดินจงกรม เดินทั้งวันไม่รู้สึกตัวเลย อันนั้นก็เต็มทีแล้ว เดินไปจนตาย มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น
 
เดินก้าวไป ก้าวมา “รู้” นี่(เรียก)ว่าเดินจงกรม
 
 
การสร้างจังหวะ
 
การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานั้น ต้องมี “วิธีการ” ที่จะนำตัวเรา ไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาได้ การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
 
ดังนั้นการมาที่นี่ต้องพยายาม ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ สอนกันแนะนำกัน ให้มีวิธีทำ โดยเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ
 
วิธีทำนั้น ก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว...
 
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้าๆ...ให้รู้สึก ไม่ใช่(พูด) ว่า “พลิกมือขวา” อันนั้นมากเกินไป เพียงแต่ว่าให้รู้สึกเท่านั้นเอง พลิกมือขึ้น...ให้รู้สึก หยุดไว้ ยกมือขึ้น...ให้รู้สึก ให้มันหยุดก่อน ให้มันหยุด มันไหวไป...ให้รู้ขึ้นครึ่งตัวนี่...ให้มันรู้ แล้วก็เอามาที่สะดือ
 
อันนี้มีจังหวะซ้าย-ขวา เป็น ๖ จังหวะ เวลาเอามือออกมาก็ซ้าย-ขวา รวมกันเข้ามี ๘ จังหวะ อันนี้เป็นจังหวะ เป็นจังหวะ
 
การเจริญสตินั้น ท่านว่าให้ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็ทำความรู้สึกนี่เอง เมื่อพูดถึงความรู้สึกแล้ว ก็พูดวิธีปฏิบัติพร้อมๆ กันไป ทุกคนทำตามอาตมาก็ได้

ศึกษาธรรมะ กับธรรมชาติ


ศึกษาธรรมะ ศึกษากับธรรมชาติมันจริงๆ
มันก็ต้องรู้มาจากกฎของธรรมชาติมันจริงๆ
เพราะธรรมชาติมันสอนให้เราจริงๆ เป็นอย่างนั้น


ตาจึงเป็นหน้าที่ของมองให้เห็น
หูจึงเป็นหน้าที่ของฟัง
จมูกจึงเป็นหน้าที่ของดม
กายเราเป็นหน้าที่ที่สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ลิ้นนี่ กินอาหารเข้าไปเป็นหน้าที่ที่จะรู้รส
จิตใจของเราเรียกว่าธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจ
คำว่าธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็คือ หมายถึง
จิตใจเราปรากฏ พลิกแพลง เราต้องเห็นต้องรู้


เมื่อเรารู้จักหน้าที่ของคน
เราต้องศึกษาความเป็นคน
เนี่ยะ…ความเป็นมนุษย์
เรื่องเทวดา เรื่องพระอินทร์ พระ-พรหม
แล้วก็ไม่ต้องศึกษาก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น
แต่เมื่อศึกษาความเป็นมนุษย์ได้แล้ว
มันจะไหลไป เข้าไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล
ไม่ว่ายุคนั้น ยุคนี้ ไปเหมือนเดิม


ดังนั้น การศึกษาธรรมะจึงไม่ยาก
ไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ใดทั้งสิ้น
ขึ้นอยู่กับตัวคน อยู่ที่ไหนก็ทำได้…


หลวงพ่อเทียน (คัดจากแถบบันทึกเสียง รหัส ท.119ม.)